วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log การอบรมภาคเช้า 30/10/58



                         การอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ

           การเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังจะมีปัญหามากพอสมควร ว่าทำไมเด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนกระทั่งระดับมหาวิทยาลัยก็ยังคงเรียนอยู่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำภาษาอังกฤษมาสื่อสารได้ดีเท่าที่ควร ฉะนั้นเราต้องมาแก้ไขที่วิธีการสอนของผู้สอน ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย การสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ อาจจะทำให้ผู้เรียนไม่เกิดการพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษเท่าที่ควร เนื่องจากกรเรียนแบบเดิมๆ เป็นการเรียนแบบท่องจำ ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงได้ เพราะผู้เรียนไม่เคยได้สัมผัสการใช้ภาษาในสถานการณ์จริงๆ
            ทางศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงได้ร่วมมือกับ Thailand TESOL เพื่อพัฒนาการสอนของผู้สอนให้ทันสมัย เข้ากับศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดอบรมในหัวข้อ วิธีการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 โดยผศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร ในวันศุกร์ ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 จะพูดถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่อดีต การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และกลวิธีการเรียนการสอนภาษาในปัจจุบัน โดยมีครูระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดใกล้เคียง และนักศึกษาคณะครุศาสตร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3 เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้
            ผศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร กล่าวว่า เดิมทีภาษาอังกฤษเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อรัชกาลที่ 2 แต่ได้มีการเรียนภาษาอังกฤษจริงๆ ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเชื่อว่าผู้สอนศาสนาจะเป็นคนถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ เมื่อเวลาผ่านไปรูปแบบการสอนก็เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีวิธีการสอนที่หลากหลาย มีทั้งแนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นความเหมาะสมในการใช้ภาษา และแนวการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา แต่ละแนวการสอนก็จะมีวิธีสอนที่แตกต่างกันไป
            แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา แบ่งออกเป็น 3 วิธีสอน คือ วิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปล เป็นวิธีการที่ไม่เน้นการฟังและการพูด แต่เน้นการเรียนไวยากรณ์และการแปล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านบทอ่านได้เข้าใจและคุณค่าของคำประพันธ์ภาษาต่างประเทศ เน้นการท่องจำ และความถูกต้องในการใช้ภาษา วิธีที่สองคือวิธีสอนแบบตรง เป็นการเรียนภาษาที่ควรให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาอยู่ตลอดเวลา และสื่อสารได้ ราวกับอยู่ในสถานการณ์จริง ซึ่งเริ่มจากการสอนระบบเสียงให้ผู้เรียนฝึกเลียนแบบเสียงและแยกเสียงให้ถูกต้อง แล้วจึงให้ผู้เรียนฝึกฟังความหมายในประโยค วิธีสอนสุดท้ายคือ วิธีสอนแบบฟัง-พูด เริ่มจากการฟัง พูด ซึ่งเป็นพื้นฐานไปสู่การอ่านและการเขียน ดังนั้นภาษาที่นำมาให้ผู้เรียนเรียนควรเป็นภาษาที่เจ้าของภาษาใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน
            แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ มีวิธีสอน 7 รูปแบบ ได้แก่ วิธีสอนแบบเงียบ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนคิดเอง ผู้สอนจะพูดน้อยที่สุดและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูด วิธีต่อมาคือ วิธีสอนตามแนวธรรมชาติ เป็นการเลียนแบบการรับรู้ภาษาของเด็กเล็ก ซึ่งเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยที่ไม่มีใครสอน แต่ยังให้ความสำคัญกับไวยากรณ์โดยใช้วิธีตรวจแก้ไขเรื่อยๆ วิธีสอนแบบชักชวน เป็นการโน้มน้าวให้ผู้เรียนได้ใช้สมองของตนอย่างเต็มที่ ควรให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ต่อมาคือวิธีสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง เกิดจากการท่องจำหรือแสดงท่าทาง พัฒนาความเข้าใจในการฟัง ถัดมาเป็นวิธีการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน  ถัดมาเป็นการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน จัดการเรียนการสอนโดยเน้นภาระงานเป็นหลัก และสุดท้ายคือการเรียนรู้จากการทำโครงงาน ผู้เรียนจะได้ลงมือคิด ปฏิบัติ หาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมีผู้สอนคอยให้คำแนะนำ
            แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นความเหมาะสมในการใช้ภาษา มี 2 แบบคือ แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร และแนวการสอนภาษาแบบกำหนดสถานการณ์ ซึ่งการสอนแบบภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นการเรียนรู้ตามลำดับขั้นตอนตามกระบวนการใช้ความคิดของผู้เรียน โดยเริ่มจากกการฟังไปสู้การพูด การอ่าน การจับใจความสำคัญ ทำความเข้าใจ จดจำ แล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ต่อมาเป็นแนวการสอนภาษาแบบกำหนดสถานการณ์ โดยจะเน้นที่ตัวผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนเลือกสถานการณ์ที่คิดว่าผู้เรียนจะต้องประสบในการใช้ภาษา แล้วจึงเอาภาษาที่ใช้ในสถานการณ์นั้นมาสอน
            แนวการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา มี 2 รูปแบบ ได้แก่ การสอนที่เน้นสาระการเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งการสอนที่เน้นสาระการเรียนรู้ เป็นการนำเนื้อหาวิชามาบูรณาการกับจุดหมายของการสอนภาษา ผู้เรียนใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และในขณะเดียวกันก็พัฒนาการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารไปด้วย เนื้อหาที่คัดเลือกมาควรบูรณาการการสอนภาษาทั้ง 4 ทักษะ คือการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นกลวิธีการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ใช้วิธีการตั้งคำถามและกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความคิดรวบยอดจากวิชาและประสบการณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน
            แนวการสอนที่กล่าวมาข้างต้น ผู้สอนสามารถนำมาปรับเปลี่ยนใช้กับการสอนของตนเองได้ และควรพัฒนาให้เข้ากับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ด้วย  ซึ่งองค์ความรู้ที่มีความสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาแม่ ทักษะการอ่าน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และได้รับความรู้ต่างๆมากมาย โดยเชื่อว่าการอ่านเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทักษะการใช้ภาษาอื่นๆ ได้แก่ การฟัง การพูด และการเขียน นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญในยุคศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นต้องบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนพร้อมกับองค์ความรู้หลัก มีทั้งหมด 5 ด้าน คือ ความตระหนักเกี่ยวกับโลก ความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้เข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ และความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม

            จากการเข้าอบรมในหัวข้อ วิธีการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 โดยผศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร ดิฉันได้รับความรู้มากมายเกี่ยววิธีการสอน ที่ผู้สอนจำเป็นต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 โดยจะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยมีผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะเท่านั้น สำหรับดิฉันเองสนใจในแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร เพราะดิฉันคิดว่าการสื่อสารด้วยภาษาที่สองได้ มันมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษที่เข้ามามีบทบาทในสังคมขึ้นทุกวัน ฉะนั้นแนวการสอนที่สามารถทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ในสถานการณ์จริงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น