วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

ในการศึกษาหาความรู้ในชั้นเรียนครั้งนี้ ดิฉันได้ศึกษาเนื้อหาที่ได้อ้างอิงโดยอาจารย์สิทธา พินิจภูวดล เนื้อหาดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการนำไปสู่งานแปลที่ดี ซึ่งการเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วย ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงภาษาเขียน ภาษาพูดที่คนไทยทั่วไปใช้กันจริงในสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อให้คนไทย ผู้อ่านหรือผู้ใช้งานสามารถทำความเข้าใจได้ทันที ไม่เกิดอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล หรือการรับสารมาอย่างผิดๆ พลิกแพลงไปจากความหมายเดิมของต้นฉบับ ฉะนั้นผู้แปลจึงควรคำนึงถึงองค์ประกอบในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ คำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร
องค์ประกอบแรกคือคำและความหมาย จะสังเกตได้ว่าคำบางคำมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่างมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง หรือความหมายเชิงเปรียบเทียบ อาทิเช่น คำว่าแสบ ในความหมายตรงจะสื่อว่าอาการเจ็บบาดแผลที่ถูกน้ำเกลือราด แต่ในทางกลับกันในความหมายแฝงได้ให้ความหมายของคำว่าตัวแสบว่าผู้ที่นำความยุ่งยาก ทุกข์ร้อนมาสู่ผู้อื่น สำหรับคำบางคำมีความหมายต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น ในสมัยก่อนๆมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันแตกต่างไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งก็อาจจะตรงข้ามกัน แต่ในบางครั้งอาจจะมีความหมายไปในทางที่ดี บางครั้งอาจมีความหมายไปในทางที่เลวลง เช่นคำว่าไพร่ เดิมหมายถึงชาวเมือง พลเมืองสามัญ ปัจจุบันหมายถึงคนขาดมารยาทไม่สุภาพ และในการพูดหรือการเขียนที่ต้องการแสดงอารมณ์ อาจจะนำคำที่มีความหมายไม่ดีมาใช้ให้เกิดความหมายที่ดีขึ้น
องค์ประกอบที่สอง การสร้างคำกริยาเป็นการเสริมท้ายคำกริยาด้วยคำกริยา ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าทำให้ภาษาเกิดความยุ่งยาก อย่างไรก็ตามบางครั้งก็มีความชัดเจนขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงดั้งเดิมของคำนั้น คำกริยาที่สามารถนำมาเสริมท้ายได้แก่ ขึ้น ลง ไป มา ซึ่งจะไม่มีความหมายเดิมเหลืออยู่ แต่เป็นคำบอกปริมาณและทิศทาง เช่น ทำขึ้น เป็นการบ่งบอกถึงปริมาณมาก ชัดเจน เช่นเดียวกับเกิดขึ้น พูดขึ้น คำว่าช้าลง บอกถึงปริมาณว่ามีเพียงเล็กน้อย โดยมีความหมายเปรียบเทียบเช่นเดียวกับแก่ลง เสื่อมลง ส่วนคำว่าจากไป สามารถบอกทิศทางว่าไกลบ่งบอกว่าห่างไกลออกไป และคำว่า กลับมา บอกทิศทางว่าใกล้ซึ่งตรงข้ามกับไป อย่างไรก็ตามเราควรระวังในการใช้คำว่าไปมา ขึ้นลง คู่กันกลับหมายถึงการทำซ้ำๆ
องค์ประกอบที่สาม การเข้าคู่คำเป็นการนำคำหลายคำมาเข้าคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่โดยมีความหมายใหม่หรืออาจจะมีความหมายคงเดิม แต่ส่วนใหญ่มักจะมีความหมายคงเดิม เช่นทรัพย์สิน หมายความว่าร่ำรวย เสื่อสาด คือเครื่องปูลาด และข้าวปลาอาหาร หมายความว่าอาหาร สำหรับคู่คำที่มีความหมายตรงข้ามกัน ส่วนใหญ่จะได้ความหมายใหม่ เช่น ผู้ใหญ่ผู้น้อย ใหญ่ตรงข้ามกับน้อย หมายความว่า ทุกคน และความรับผิดชอบ ผิดตรงกันข้ามกับ ชอบ หมายความว่า ความรู้สึกว่าสิ่งใดควรหรือสิ่งใดไม่ควร และคู่คำที่มีความหมายต่างกัน มักจะได้คำใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมเหลืออยู่ เช่น ลูกเมีย หมายความว่าครอบครัว ข้าวของเครื่องใช้ หมายความว่า เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น
และองค์ประกอบสุดท้ายคือสำนวนโวหาร ซึ่งผู้แปลจำเป็นจะต้องรู้จักสำนวนการเขียน และการใช้โวหารหลายๆแบบเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความบันเทิง สนุกสนาน มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจน บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจผิด การอ่านฝึกอ่านเยอะๆจะทำให้คุ้นเคยกับสำนวนโวหารแบบต่างๆได้มากขึ้น สำหรับสำนวนที่มีคำซ้ำในที่นี้หมายถึงคำเดียวกันซ้ำรูปกัน และคำที่มีความหมายเหมือนกันซ้ำความหมายกัน ในการใช้คำดังกล่าวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย นั่นกล่าวคือข้อดีเพื่อให้เกิดความไพเราะไม่ฟังดูห้วน ให้เกิดความหมายอ่อนลง หรือเพื่อให้ได้คำใหม่ๆใช้ เช่นความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเพื่อแสดงจำนวนที่มากขึ้น
สำหรับโวหารภาพพจน์ ผู้แปลจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน มิฉะนั้นจะทำให้โวหารดังกล่าวเกิดความบิดเบือนไปจากเดิม ได้แก่ โวหารอุปมา(Simele) คือการสร้างภาพพจน์ด้วยการเปรียบเทียบ โดยมีจุดมุ่งหมายจะชี้แจงอธิบาย พูดพาดพิงถึงหรือเสริมให้งดงามขึ้น โดยใช้คำเชื่อม ประดุจ ราวกับ เช่นดำประดุจนิล ส่วนโวหารอุปลักษณ์(Metaphor) เป็นการเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนหรือไม่เหมือนของสิ่งที่จะเปรียบเทียบมากล่าว โวหารเย้ยหยัน(Irony) คือการใช้คำด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล่อ เหน็บแนมหรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง โวหารขัดแย้ง (ContrastหรือAntitheses) เป็นการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาเรียงต่อกันโดยรักษาสมดุลไว้  เช่นการรักษาให้จำนวนคำเท่ากันทั้งสองฝ่าย
โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonymy) ซึ่งเป็ฯการนำคุณสมบัติเด่นๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาใช้แทนที่จะเอ่ยสิ่งนั้นมาโดยตรง เช่นปากกาคมกว่าดาบ  คือปากกาเป็นของใช้ประจำของนักเขียน แต่ดาบเป็นของใช้ประจำของนักรบ ต่อไปกล่าวถึงโวหารบุคคลาธิษฐาน(Personification) คือการนำสิ่งต่างๆที่ไม่มีชีวิตรวมทั้งความคิด การกระทำ และถ้าเราสังเกตเห็นโวหารที่เน้นให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้เห็นความชัดเจนในการแสดงอารมณ์ที่รุนแรง จะเรียกว่า โวหารที่กล่าวเกิน(Hyperbole)
อย่างไรก็ดีในการแปลเพื่อนำไปสู่งานแปลที่ดีควรคำนึงถึงลักษณะที่ดีของสำนวนโวหาร คือการใช้ภาษาถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ไม่มีความพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปจากเนื้อหา การใช้คำไม่กำกวม สำนวนโวหารที่ดีจะต้องมีความชัดเจน แม่นตรง ไม่ชวนให้เข้าใจไขว้เขว และสำนวนต้องมีชีวิตชีวา คือไม่เนิบนาบ เฉื่อยชา มีความน่าสนใจ เร้าใจ ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกกระตือรือร้น อยากอ่านต่อจนจบ รวมไปถึงความสมเหตุสมผล มีความน่าเชื่อถือ มีเหตุผลที่รอบคอบ ไม่มีความอคติ ไม่สร้างความหลงผิดให้แก่ผู้อ่าน เช่นการบรรยายความฉลาดของสัตว์ที่มีเหนือกว่ามนุษย์ และความคมคายเฉียบแหลมเป็นการใช้คำพูดที่มีความเข้มข้น หนักแน่น แฝงข้อคิดที่ฉลาดโดยการสอดแทรกถ้อยคำดีๆเพียงไม่กี่คำ
ดังนั้นในการเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งแรกคือการคำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่างๆในแต่ละงานเขียน เพราะแต่ละงานแปลนั้นย่อมมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่ขึ้นอยู่ว่างานดังกล่าวนั้นจะแตกต่างไปมากหรือน้อย ทั้งนี้ในการแปลที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการฝึกฝนการแปลอยู่บ่อยๆ เพราะจะทำให้เรารู้สึกเกิดความคุ้นเคย และคุ้นชินกับคำศัพท์ และสามารถเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับบริบท รวมไปถึงการรักษาอารมณ์ของงานเขียนไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่สอดแทรกสำนวนโวหารในแต่ละแบบที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งสิ่งนี้จะสามารถสื่อความให้ผู้อ่านรู้สึกมีความสนใจในงานแปลนั้นๆได้เป็นอย่างดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น