วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log การอบรมภาคเช้า 29/10/58

 
                          การอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ

            ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น เพื่อจะผลิตบุคคลากรในประเทศให้มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่มนุษย์ต้องมีความสามารถทางด้านภาษา ด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อความอยู่รอดในสังคม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า แต่ละองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จะจัดการอบรมเกี่ยวกับภาษาให้กับบุคลากรของตนเพื่อการพัฒนาที่ก้าวไกล แม้แต่ระดับมหาวิทยาลัยก็มีการจัดอบรมหรือจัดกิจกรรมต่างๆทางด้านภาษาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่จะไปเป็นแม่พิมพ์ของชาติในอนาคต จะต้องมีความรู้ที่หนักแน่นและถูกต้อง ซึ่งต้องควบคู่กับคุณธรรม เพื่อจะพัฒนาเด็กๆ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้พัฒนาการทางด้านภาษาอังกฤษมีประสิทธิผลนั้น ผู้สอนจะต้องพัฒนาวิธีการสอนภาษาอังกฤษอยู่เสมอ โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ และมีการจัดให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในสถานการณ์จริงซ้ำๆ เพราะความคุ้นเคยจะทำให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทางด้านภาษาที่ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ
            ทางด้านศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้เห็นถึงความสำคัญของการสอนภาษาอังกฤษ จึงพยามยามพัฒนาวิธีการสอนภาษาของครูจากรูปแบบเดิมให้เป็นแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงทักษะต่างๆเข้าด้วยกัน ดังนั้นทางศูนย์ภาษาจึงจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2558 โดยมีผู้เข้าร่วมการอบบรม คือครูในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมกับนักศึกษา คณะครุศาสตร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3 เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ซึ่งช่วงเช้าจะเป็นการเสวนาวิชาการงานวิจัย ในหัวข้อ Beyond Language Learning โดย ดร.สุจินต์ หนูแก้ว , อาจารย์สุนทร บุญแก้ว และผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล นายกสมาคมครูสอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย (Thailand TESOL) ณ ห้องประชุมพรหมโยธี
            ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล นายกสมาคมครูสอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย (Thailand TESOL) กล่าวว่า การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ต้องมี 5c คือ communicate ทักษะทางด้านการสื่อสาร , culture ทักษะด้านความเข้าใจในวัฒนธรรม , connection ทักษะการเชื่อมโยง , comparison ทักษะการเปรียบเทียบ และ community  นอกจากนั้นผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จะต้องอ่านออก (Reading) , เขียนได้ (Writing) และคิดเลขเป็น (Arithmetics)   เพราะการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker) และเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ (learning person) ซึ่งครูในศตวรรษที่ 21 ต้องยึดหลักสอนน้อย เรียนมาก  ผู้สอนก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากที่คอยป้อนความรู้ให้มาเป็นผู้ชี้แนะแนวทางหรือผู้ฝึกให้กับผู้เรียนเท่านั้น โดยเปลี่ยนจากที่เน้นการสอนหน้าชั้นเรียนแล้วให้ผู้เรียนจดบันทึกเพียงอย่างเดียวมาเป็นเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ในทุกขั้นตอน
            ดร.สุจินต์ หนูแก้ว กล่าวว่า คุณลักษณะของการเรียนการสอนที่เหมาะสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 ต้องมี 7c คือ 1) Critical thinking and problem solving คือ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา 2) Creativity and innovation คือ ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ต้องมีความทันสมัย แตกต่าง และดีกว่า 3) Cross-cultural understanding คือ ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม 4) Teamwork and leadership คือ การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ เนื่องจากหมดยุคของการแข่งขัน ผู้เรียนต้องร่วมมือไปด้วยกัน และต้องฝึกเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม 5) Communications, information and media literacy คือ ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ 6) Computing and ICT คือ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ 7) Career and learning skills คือ ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถพื้นฐานด้วย คือ ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน และทักษะการคิดคำนวณ
            ทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้กระทำสิ่งนั้นซ้ำๆหลายๆครั้ง โดยปัญหาของเด็กไทย คือ การคิดวิเคราะห์ เนื่องจากไม่ค่อยมีการเรียนรู้ที่ฝึกให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ทำให้ทักษะทางด้านการวิเคราะห์ของเด็กไทยนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ควรแก้ปัญหาโดยการให้ผู้สอนออกแบบบทเรียนที่มีการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน แต่ต้องถามว่า ทำไม เพราะอะไร เพื่อได้ฝึกให้ผู้เรียนได้คิดและวิเคราะห์ออกมา ซึ่งการคิดวิเคราะห์จะมีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ 1) การจำแนก คือแยกออกมาเป็นตัวย่อยๆ เช่น การให้เด็กแยกสิ่งของที่ปนกันอยู่ และให้เด็กตั้งเกณฑ์ในจำแนกด้วยตนเอง 2) จัดกลุ่ม การจัดกลุ่มมีความคล้ายคลึงกับการจำแนกมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้สอนก็ต้องให้เด็กตั้งเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเอง และจะเห็นได้ว่าแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีการตั้งเกณฑ์ในการจัดกลุ่มที่แตกต่างกันไป 3) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ เช่น ความเหมือน ความต่าง , ความสอดคล้อง ความขัดแย้ง 4) การวิเคราะห์สภาพ วิเคราะห์ข้อคิด วิเคราะห์ความสำคัญ ขั้นตอนนี้จะต้องผ่านทักษะการอ่านและทักษะการฟัง 5) การคาดการณ์      การพยากรณ์ การคาดคะเน ซึ่งการคาดการณ์คือแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ส่วนการพยากรณ์นั้นจะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริงจึงจะสามารถพยากรณ์ได้ และการคาดคะเนจะเกี่ยวกับเรื่องตัวเลข
            อาจารย์สุนทร บุญแก้ว กล่าวว่า Project Based Learning (PBL) เป็นการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งอาจารย์ได้ใช้เทคนิคนี้ในการสอนนักศึกษาที่เรียนการท่องเที่ยว ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการจัดสถานการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกินอาหารอีสานแล้วท้องเสีย แล้วให้นักศึกษาวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากสาเหตุใด เพราะอะไรและควรแก้ปัญหาอย่างไร มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งตอบว่า อาจเป็นเพราะหน่อไม้ดอง และควรแก้ปัญหาตั้งแต่กลวิธีการทำ คือควรทำให้สะอาด โดยอาจารย์จะให้นักศึกษาเขียนบรรยายมาเป็นภาษาอังกฤษ แต่ปรากฏว่านักศึกษาไม่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเลย นั่นทำให้อาจารย์เห็นถึงจุดด้อยของนักศึกษา อาจารย์จึงได้จัดกิจกรรมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน สาขาวิชาการท่องเที่ยว ไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย
            โครงการที่อาจารย์จัดขึ้นมีชื่อว่า Malaysia and Singapore for learning language เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้ไปเรียนในประเทศมาเลเซียเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นการจัดให้นักศึกษาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทางภาษา ที่เลือกประเทศมาเลเซียเพราะค่าใช้จ่ายไม่เยอะเท่าประเทศแถบยุโรป อาจารย์ได้ติดต่อประสานงานไปยังหลายมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่กล้ารับนักศึกษาเข้าเรียน เพราะนักศึกษาที่ไปมีจำนวนมาก และสุดท้ายนักศึกษาก็ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศมาเลเซีย ซึ่งการเรียนรู้ในสองเดือนแรกนั่นจะเป็นการช่วยเหลือตัวเองในทุกๆอย่าง มีการจัดกิจกรรมกันเอง  และนักศึกษายังได้นำวัฒนธรรมไทยมาเผยแพร่ในประเทศมาเลเซียอีกด้วย เดือนสุดท้ายนักศึกษาจะต้องระดมทุนกันมาจัดงานกันก่อนจะจบการศึกษาที่นั่น
            หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจการเรียนรู้ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเวลา 3 เดือน อาจารย์จะพานักศึกษาไปยังประเทศสิงคโปร์ และอาจารย์จะเป็นคนจัดการเรื่องที่พักให้ โดยให้นักศึกษาแบ่งกันเป็นกลุ่ม และให้เดินทางไปยังที่พักเอง โดยมีอาจารย์ท่านอื่นร่วมทีมแต่ละทีมไปด้วย มีข้อแม้ว่าหากนักศึกษากลุ่มใดหลงทาง ก็ให้อาจารย์ที่ร่วมกลุ่มหลงทางกับนักศึกษาไปด้วย เพราะยิ่งเราหลงทางมากเท่าไร เราก็ต้องนำทักษะการสื่อสารออกมาใช้มากเท่านั้น และยิ่งต้องช่วยเหลือตนเองให้ไปถึงที่พักได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ที่อาจารย์เลือกไปประเทศสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยประเทศหนึ่ง และเมื่อหลงทางก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพราะซื้อตั๋วแบบเหมาจ่าย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย
            โครงการที่อาจารย์จัดขึ้นเป็นโครงการที่ดีมากและเป็นโครงการที่เกิดประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากนักศึกษามีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีขึ้น เพราะเมื่อกลับมาประเทศไทย นักศึกษาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างไม่ติดขัด เนื่องจากตอนที่อยู่ประเทศมาเลเซียนั้น นักศึกษาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการเรียนรู้ และได้เรียนรู้อย่างซ้ำๆหลายๆครั้ง จึงทำให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้ภาษาเพราะทุกๆวัน ที่อยู่ที่นั้น ต้องพูดภาษาอังกฤษ ไปที่ไหนก็มีแต่คนพูดภาษาอังกฤษ นักศึกษาจึงต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่ เพื่อความอยู่รอด
            จากการเรียนรู้ในการอบรมภาคเช้าวันนี้ทำให้ดิฉันได้เห็นมุมมองหลายๆด้านในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ผู้สอนจะต้องหมั่นพัฒนาเทคนิคการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วย 7c นั่นคือ Critical thinking & problem solving , Creativity & innovation , Cross-cultural understanding , Teamwork and leadership , Communications information and media literacy , Computing & ICT literacy และ Career & learning skills และพัฒนาให้เด็กมีทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน และทักษะการคิดเลขเป็น ด้วยการเรียนรู้ที่ให้เด็กลงมือทำด้วยตนเองหรือเรียกว่า Project Based Learning (PBL)  ซึ่งตัวดิฉันก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วและสามารถทำให้เราจดจำสิ่งที่เราเรียนรู้ได้นาน

            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น