วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หลักการแปลวรรรณกรรม

ถ้ากล่าวถึงหลักการแปลวรรณกรรม ซึ่งแน่นอนว่าทุกๆงานแปลย่อมมีกฎเกณฑ์และหลักการที่ถูกต้องอย่างแน่นอน เพื่อนำไปสู่งานแปลที่ดี สำหรับคำว่า วรรณกรรม หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะใช้วิธีร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของกวีโบราณหรือปัจจุบัน ซึ่งคงจะรวมถึงสิ่งที่เราเรียกว่า วรรณคดี ด้วย ตามปกติวรรณกรรมเป็นงานเขียนที่จัดไว้ในประเภท บันเทิงคดี งานแปลทางบันเทิงดังกล่าว ได้แก่ งานแปลนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน นิยาย บทละคร การ์ตูน บทภาพยนตร์ บทเพลง เป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านมุ่งหวังที่ได้รับความบันเทิงเพลิดเพลินเป็นใหญ่ ส่วนที่จะค้นหาความรู้ ข้อมูลต่างๆนั้นเป็นจุดประสงค์รองลงมา การแปลวรรณกรรมสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การรักษาความหมายเดิมไว้ให้ครบถูกต้องไม่เปลี่ยนไปจากต้นฉบับ
สำหรับหลักการแปลนวนิยาย ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกประเทศและทุกยุคสมัย งานแปลประเภทนี้จึงมีความสำคัญในวงการแปล ซึ่งคุณค่าของวรรณกรรมอยู่ที่ศิลปะในการใช้ภาษาของผู้แปลที่สามารถค้นหาสำนวนที่มีความสละสลวย ไพเราะ สอดคล้องกับต้นฉบับได้เป็นอย่างดี โดยอันดับแรงคือการแปลชื่อเรื่องของวรรณกรรม ชื่อของหนังสือหรือภาพยนตร์มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะผู้แต่งได้พิถีพิถันในการตั้งชื่อเพื่อให้หนังสือมีความเร้าใจผู้อ่าน ผู้ชมให้สนใจติดตามงานในการแปลชื่อเรื่องก็เช่นกัน ตองมีความพิถีพิถันในการเลือกใช้คำเพื่อบอกเป็นนัยว่าต้องการสื่ออะไร และต่อด้วยการแปลบทสนทนา ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยุ่งยากของการแปลเพราะถ้อยคำโต้ตอบของตัวละคร ซึ่งใช้ภาษาพูดหลายระดับแตกต่างกันตามสถานภาพทางสังคม รวมทั้งการแปลบทบรรยายด้วย
หลักการแปลบทละคร เป็นการดำเนินการแปลเช่นเดียวกับการแปลเรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน นิยาย คือเริ่มจากการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบก่อน หาความหมายและคำแปลแล้วจึงเขียนบทแปลด้วยภาษาที่เหมาะสม ในการอ่านต้นฉบับบทละครควรอ่านหลายๆครั้ง เพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่องอย่างคร่าวๆ ตรวจสอบความเข้าใจด้วยการตั้งคำถาม ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร อ่านครั้งต่อไปเพื่อค้นหาความหมายของคำและวลีที่ไม่รู้จักโดยใช้พจนานุกรมช่วยและหาความรู้รอบตัวเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นฉบับ
หลักการแปลบทภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ที่นำมาแปลจะถ่ายทอดเป็นบทเขียนก่อน นอกจากบางครั้งไม่มีบทเขียน ผู้แปลต้องดูและฟังจากฟิล์ม จุดประสงค์หลักของบทภาพยนตร์แปลมีสองประการคือ การนำบทแปลไปพากย์ หรืออัดเสียงในฟิล์ม ผู้ฟังจะได้ยินเสียงนักแสดงพูดภาษาไทย และการนำบทแปลไปเขียนบรรยายในฟิล์มดั้งเดิม ผู้ฟังจะได้ยินเสียงเดิมของนักแสดง และได้เห็นคำแปลพร้อมกัน วิธีการแปลบทภาพยนตร์มีขั้นตอนดำเนินการเช่นเดียวกับการแปลบทละครและการ์ตูน ซึ่งต้องอ่านทั้งข้อความ ภาพ และฉากพร้อมๆกันโดยมีสัมพันธภาพต่อกัน
หลักการแปลนิทาน นิยาย บันเทิงคดีประเภทนี้เป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณสมัยที่ยังไม่ใช้อักษรสื่อสารกัน คนโบราณสื่อกันด้วยการบอกเล่าด้วยปากด้วยวาจา วิธีแปลนิทาน ดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับหลักการแปลวรรณกรรมประเภทอื่นๆ โดยเริ่มจากการอ่านต้นฉบับนิทาน อ่านครั้งแรกอย่างรวดเร็วเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่อของนิทาน แล้วตรวจสอบความเข้าใจเนื้อเรื่องโดยการตั้งคำถามว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร อ่านครั้งต่อไปอย่างช้าๆและค้นหาความหมายและคำแปล ทำรายการคำและวลีที่ไม่ทราบความหมาย ค้นหาความหมายในพจนานุกรม และการเขียนบทแปลควรใช้ภาษาเก่า เช่น เจ้า ข้า ตอนจบมีคำสอนการแปลชื่อของเรื่องสามารถใช้วิธีแปลตรงตัวได้
หลักการแปลเรื่องเล่า เรื่องเล่าสั้นๆมักจะแฝงอารมณ์ขันมักจะใช้ถ้อยคำจำกัดกะทักรัด ถ้ามีความกำกวมก็เป็นเพราะผู้เขียนตั้งใจเพราะความกำกวมสามารถสร้างอารมณ์ขันได้ เรื่องเล่ามักจะประกอบด้วยตัวละครสำคัญจำนวนน้อยประมาณ หนึ่งหรือสองคนซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามความจำเป็น จะตัดตัวใดตัวหนึ่งออกไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระชั้นชิดแบบรวดเดียวจบ เพื่อให้กระชับความ ตอนจบมักจะเป็นปมอารมณ์ขันที่เป็นจุดเด่นของเรื่อง วิธีการแปลจะดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับการแปลวรรณกรรมประเภทอื่นๆคือเริ่มด้วยการอ่านต้นฉบับให้เข้าใจแล้วเขียนบทแปล โดยใช้ภาษาในเรื่องนี้เป็นภาษาระดับกลาง มีความกำกวมและอารมณ์ขัน ผู้แปลต้องเลือกหาคำที่ฟังดูน่าขัน
หลักการแปลการ์ตูน เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายความเครียด สนุกสนานเพลิดเพลินจากการอ่าน การ์ตูนให้ความบันเทิงทุกอย่างแก่ผู้อ่านเช่นเดียวกับเรื่องสั้น นวนิยาย และนิทาน เช่นให้ความสุข ความขบขัน และความสำราญ อารมณ์อื่นๆนอกจากนี้การ์ตูนยังมีส่วนสร้างสรรค์ความสามารถเชื่อมโยงการสื่อความหมายด้วยภาพและภาษาเข้าด้วยกัน นอกจากนั้นในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ครูสามารถใช้การ์ตูนสอนภาษาพูดแก่นักเรียนได้ด้วย เพราะการ์ตูนประกอบด้วยถ้อยคำสนทนาเป็นส่วนใหญ่ หลักสำคัญในการแปลการ์ตูนคือการใช้คำแปลที่สั้น ชัดเจนเข้าใจได้หรือสื่อความหมายได้ สามารถจำกัดจำนวนคำให้อยู่ภายในกรอบคำพูดได้
และหลักการแปลกวีนิพนธ์ เป็นวรรณกรรมที่แต่งเป็นร้อยกรอง มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวด้วยการจำกัดจำนวนคำ จำนวนพยางค์ และจำนวนบรรทัด ทั้งเสียงหนัก-เบา การสัมผัสและจังหวะ ไทยเราเรียกข้อบังคับของกวีนิพนธ์ว่าฉันทลักษณ์ ใช้เป็นแนวทางแต่งโคลงฉันท์ กาพย์ กลอน กวีนิพนธ์อังกฤษก็มีหลายแบบเช่นกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อเล่าเรื่อง ให้ความรู้และสอนศีลธรรมขณะเดียวกันก็ให้ความบันเทิงเพลลิดเพลินด้วย ลักษณะของการแปลกวีนิพนธ์มีสองแบบคือ การแปลเป็นร้อยกรองและร้อยแก้ว การแปลร้อยแก้วมุ่งเน้นทั้งเนื้อหาสาระและความไพเราะของภาษา และการแปลเป็นร้อยแก้วที่ประณีตผู้แปลจะใช้การแปลกวีนิพนธ์มีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารความคิดและวัฒนธรรมอื่นๆในกวีนิพนธ์
ดังนั้นในการเลือกแปลวรรณกรรมในแต่ละแบบจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญในการเลือกแบบคือการรักษาความหมายเดิมกับการรักษารสของความหมายเดิม ซึ่งเป็นหัวใจของการแปลงานบันเทิงคดี ผู้แปลจำเป็นต้องใช้ศิลปะที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เพราะงานแปลเช่นนี้เป็นงานแปลที่มีศิลปะอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถก่อให้เกิดการฝึกฝนที่แม่นยำ จะทำให้งานแปลนั้นออกมาในรูปแบบที่ถูกต้องสมบูรณ์ ชัดเจนและมีความน่าสนใจ เร้าใจให้ผู้อ่านได้มีการติดตามอ่านจนจบ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น